วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สัมฤทธิผลฟาร์ม

สัมฤทธิผลฟาร์ม โดย สัมฤทธิ์


             ในวัยเด็กเวลาเรากรอกใบสมัครเข้าโรงเรียน ใบสมัครจะมีช่องให้เรากรอก ชื่อพ่อ....ชื่อแม่....และก็ตามด้วยอาชีพ....ซึ่งอาชีพของพ่อและแม่ผมคือชาวนา ก็เคยถามพ่อกับแม่ว่าทำไมพ่อกับแม่ไม่เป็นครู หรือตำรวจ หรือทหาร เหมือนพ่อแม่เพื่อนคนอื่นๆ พ่อกับแม่บอกว่าพ่อกับแม่เรียนมาน้อย มันเป็นอาชีพที่ปู่ย่า ตายายให้เรามา เราต้องรักษามันเอาไว้ อาชีพทำนาถึงจะเหนื่อยยากลำบากแต่ก็มีความสุขนะลูก แต่ถ้าลูกไม่อยากลำบากเหมือนพ่อกับแม่ก็ต้องขยันเรียนให้สูงๆจบมาจะได้มีงานทำที่สบาย เป็นเจ้าคนนายคน ผมไม่เข้าใจว่าความสุขมันเป็นยังไง รู้แต่ว่าโตขึ้นจะต้องมีงานทำที่ไม่ลำบากเหมือนพ่อกับแม่ และก็ตั้งใจเรียนตามที่พ่อกับแม่สอนไว้ จนผมได้เรียนจบปริญญาตรี "วิศวกรรมศาสตร์" ปริญญาโท "บริหารธุรกิจ" ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทที่มั่นคงแห่งหนึ่ง แต่อาชีพดังกล่าวไม่ได้สบาย และไม่ได้ให้ความสุขเหมือนที่ฝันไว้เลย กับกลายเป็นว่าชีวิตทำนาของพ่อกับแม่ที่บ้านมีความสุขมากกว่าอาชีพอย่างเราเสียอีก เห็นได้จากชิวิตเขาไม่ต้องวุ่นวาย กินข้าวที่ตัวเองปลูกกับข้าวก็หาได้ไม่อยากในพื้นที่ แต่ผมกลับทำงานหาเงินเพื่อซื้อข้าวกิน ที่ทำงานพ่อกับแม่สามารถปั่นจักรยานไปทำงานไม่กี่นาที แต่ผมต้องตื่นแต่เช้าขับรถผ่ารถติดไปทำงานเป็นชั่วโมงๆ พ่อกับแม่ซื้อที่สะสมไว้หลายร้อยไร่ มีบ้านหลังโตโดยไม่มีหนี้ อาชีพที่ต้องเรียนจบสูงๆ ต้องมีประสบการณ์เยอะๆจะซื้อบ้านซักหลัง ซื้อรถซักคัน ซื้อที่ซักไร่ ต้องกู้อย่างเดียวถึงจะมีได้ ผ่อนจนแก่ถึงจะได้มา ทำไมชีวิตมันไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้ตอนเด็กๆ ยิ่งอาชีพครูที่เราอยากให้พ่อกับแม่เป็นในวัยเด็กบางคนมีหนี้เยอะกว่าชาวนาอีก แล้ว...แล้วมันไปผิดตรงขั้นตอนไหน คำตอบที่เลือกทำไมมันไม่ถูกต้อง เป็นคำถามที่คอยถามตัวเองมาตลอด?

             เมื่อการมองทะลุผ่านวัตถุนิยม และสังคมนิยม สุดท้ายทำให้เราเข้าใจว่า มันอยู่ที่เราพอใจต่างหาก พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่อย่างเช่นพ่อกับแม่พอใจและสุขใจในอาชีพชาวนา ตอนเด็กๆผมไม่เข้าใจและไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่พยายามวิ่งหาความฝันใหม่ๆเมื่อไปถึงจุดหนึ่งความฝันก็จะไปรอเราอีกจุดหนึ่งเสมอไม่สิ้นสุด ดังนั้นเราควรมีความฝันพอให้ใจเราได้ชื่นใจเวลาที่ทำมันสำเร็จ แต่ไม่ใช่มีแล้วต้องเหนื่อยกับการวิ่งตามมัน ความฝันอาจให้ความยิ่งใหญ่แต่เหนือความยิ่งใหญ่คือความดี สัมฤทธิผลฟาร์ม จึงเกิดจากการหันกลับมามองตัวเราเอง อาศัยจุดแข็งและโอกาสที่มีอยู่แล้วนำมาต่อยอดธุรกิจของครอบครัว เพราะหากเรายังเดินตามเส้นทางเดิม ก็ไม่มีวันไปถึงจุดหมายใหม่ จุดหมายใหม่ในที่นี้นอกจากจะเพื่อเป้าหมายที่วางไว้แต่พองาม ยังรวมถึงการเผื่อแผ่ให้กับบุคลอื่น ให้กับสังคม เท่าที่พอจะให้ได้ วันนี้ผมภูมิใจที่เกิดเป็นลูกชาวนา และได้เข้าใจในสิ่งที่พ่อกับแม่พยายามพร่ำสอนมาตลอด
 
"คนเราจะประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่เป็นคนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อทำความฝันให้สำเร็จด้วยวิริยะบารมีของตนเอง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีชัยชนะจากการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ"
                  

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กงล้อแห่งการพึ่งตนเอง

เมื่อกงล้อแห่งการพึ่งตนเองหมุนครบรอบเมื่อใด ปฐมบทแห่งความพอเพียงก็จะบังเกิดขึ้น


                ตราบใดที่เรายังไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ก็อย่าถามหาชีวิตที่พอเพียง เพราะคำว่าพอเพียงก่อนอื่นเราต้องยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเราเองให้ได้ก่อน การพึ่งตัวเองจึงเป็นปฐมบทของความพอเพียง แล้วต้องทำอย่างไรเพื่อให้สามารถพึ่งตัวเองได้ ในที่นี้ผมได้นำวิธีการจัดการแบบกงล้อแห่งการพึ่งตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าหากเราบริหารจัดการอะไรก็แล้วแต่ให้เป็นวงจร ให้สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ ก็จะทำให้อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น หลักการคือเมื่อเราผลิตผลิตภัณฑ์หลัก (key product) แล้วสามารถนำผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์หลัก (by product) มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ได้อีกเป็นวงจรซึ่งเป็นการจัดการที่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มผลกำไรได้ต่อไปเลื่อยๆเลื่อยๆไม่รู้จบ (Infinity)
              ตัวอย่าง เมื่อเราทำนาปลูกข้าวได้เป็นข้าวเปลือกอาจขายข้าวเปลือก หรือสีเป็นข้าวสารไว้กินไว้ขาย หลังจากนั้นเราก็นำฟางข้าวในนาและลำข้าวจากโรงสี มาเพาะเห็ดหรือเลี้ยงเป็ดได้เป็นดอกเห็ดไข่เป็ดไว้ขายหรือกิน จากนั้นก้อนเห็ดเก่ากับขี้เป็ดก็จะนำไปทำปุ๋ย เพื่อขายหรือใส่นาข้าว หรือพืชอื่นๆ เป็นวงจรแห่งการพึงพาไม่รู้จบเกิดผลกำไรจากการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนตลอดไป
             จากกงล้อแห่งการพึ่งตัวเองสามารถตอบคำถามว่าชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำนาทำไมถึงได้จนลงๆ? คำตอบ คือชาวนาส่วนใหญ่ทำแค่เฟืองตัวเดียวของกงล้อคือแค่ทำนาแล้วขายข้าวเปลือก ฟางข้าวก็เผาทิ้ง ปุ๋ยก็ซื้อ ทำให้ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ ยิ่งทำยิ่งขาดทุน สุดท้ายอาจต้องขายที่นาเพื่อนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น การลงทุนในธุรกิจที่ต้องพึ่งทรัพยากรหรือวัตถุดิบ (raw material) จากภายนอก (supplier) ธุรกิจก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะไปไม่รอด อันเนื่องมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ หรือวัตถุดิบอาจมีราคาสูงขึ้น พออยากกลับบ้านทำนา ทำสวนก็ไม่เหลือนาให้ทำเพราะขายไปแล้ว สุดท้ายก็เป็นลูกจ้างจนวันตาย
            อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างในการบริหารจัดการที่สามารถนำไปประยุคได้กับทุกธุรกิจ ลองตั้งคำถามเล่นๆ ว่าธุรกิจเราอยู่ได้ด้วยวัตถุดิบหลักอะไร แล้วจะทำอย่างไรหากไม่มีวัตถุดิบนั้นส่งให้เรา เมื่อเราต้องจัดหาให้มีต้องทำอย่างไรให้มีอยู่ตลอดไปเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continulity Management).....ขอบคุณครับ